LINE : ติดต่อผู้ดูแลเว็บไซต์

ยินดีต้อนรับสู่เพจข่าวท้องถิ่นเพชรบูรณ์

วันจันทร์ที่ 20 พฤษภาคม 2024

ผาแดง แหล่งรอยเลื่อนขอบเปลือกโลก .. บนเขาริมทางหลวง 12 ต.ปากช่อง อ.หล่มสัก

ผาแดง แหล่งรอยเลื่อนขอบเปลือกโลก .. บนเขาริมทางหลวง 12 ต.ปากช่อง อ.หล่มสัก
ผาแดงและจุดชมวิวภูผาแดง เป็นพื้นที่ที่มีความสูงมากอีกแห่งหนึ่งของเทือกเขาฝั่งตะวันออกของแอ่งเพชรบูรณ์ ตัวผาแดงเป็นชั้นหินทรายแดง สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 800 เมตรและสูงจากระดับพื้นราบที่เป็นทางหลวงหมายเลข 12 ประมาณ 200 เมตร บริเวณจุดชมวิวเป็นลานหินเรียบอยู่ด้านบนของผา
ผาแดงเป็นหินทรายแดงหมวดหินภูพาน กลุ่มหินทรายแดงโคราช อายุ 208-201 ล้านปี ที่มีวางตัวของชั้นหินเกือบขนานกับแนวระนาบ และเกิดเป็นหน้าผา เนื่องจากการยกตัวของเปลือกโลกอินโดไชน่า (Indochina Micro Plate) เป็นผลมาจากการเคลื่อนตัวเข้าหากันกับเปลือกโลกชาน-ไทย (Shan-Thai Micro Plate) ทางทิศตะวันตก
จากยอดผาแดงนี้เอง เป็นจุดที่สามารถมองเห็นหลักฐานของรอยเลื่อนมีพลังเพชรบูรณ์ (Phetchabun Active Fault Zone) ที่วางตัวไปตามเทือกเขาในแนวเกือบเหนือ-ใต้ โดยมองไปทางทิศใต้ จะเห็นยอดเขาที่มีลักษณะสามเหลี่ยมเป็นแนวตรง เรียงลดหลั่นกันเป็นชั้น แสดงให้เห็นว่าเคยเกิดแผ่นดินไหวที่สัมพันธ์กับรอยเลื่อนเพชรบูรณ์หลายครั้งในรอบหมื่นปี
บนจุดชมวิวผาแดง นอกจากจะมีผานกอินทรีที่น่าชมแล้ว ยังจะสามารถมองเห็นทิวทัศน์และความมหัศจรรย์ของลักษณะภูเขาและชั้นหินที่เกิดจากธรรมชาติที่งดงามน่าประทับใจยิ่ง โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว ระหว่างเดือนธันวาคม-มกราคม จะสามารถชมป่าเปลี่ยนสีที่เกิดการการผลัดใบของไม้ยืนต้นที่เป็นป่าแปลงใหญ่มากจนมองสุดตาได้อีกด้วย
การเดินทาง : สามารถมองเห็นได้ที่จุดชมวิวที่อยู่บนเขา ทางไปน้ำหนาว ริมทางหลวงหมายเลข 12 และสามารถเดินขึ้นไปที่บนยอดหน้าผาได้ โดยผ่านทางศาลเจ้าพ่อผาแดง หรือขับรถเข้าทางบ้านวังยาว ทะลุหมู่บ้านไปทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูผาแดง เดินขึ้นบันไดไป ทางชันพอสมควรแต่ไม่ไกลมาก
กว่าจะมาเป็นภูผาแดง อุทยานธรณีเพชรบูรณ์ โดย นเรศ สัตยารักษ์
ผู้เดินทางและนักท่องเที่ยวที่สัญจรออกจากหล่มสัก เพชรบูรณ์ มุ่งหน้าไปทิศตะวันออกตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 ย่อมจะประทับใจกับความสูงชันของหน้าตัดถนนทั้งสองข้าง รวมทั้งชั้นและลวดลายของหินผา (ไม่นับส่วนที่ถูกโปะปิดทับด้วยคอนกรีต) แต่เมื่อผ่านสะพานพ่อขุนผาเมือง (ชื่อเดิมคือสะพานห้วยตอง) ไปประมาณ 3 กิโลเมตร ท่านจะต้องประหลาดใจ และถามตัวเองว่าเกิดอะไรขึ้นกับป่าดงพญาเย็น เพราะชั้นหินสลับซับซ้อนที่หน้าตัดถนนด้านเหนือกลับกลายเป็นดินและหินสีแดง ส่วนด้านขวามือหรือว่าด้านใต้ของถนน กลายเป็นหุบเขาลึก และหากมองไปตามถนนข้างหน้า ท่านจะเห็นหน้าผาสีแดง วางตัวตระหง่านขึ้นมาเป็นภูเขา เสมือนจะกั้นขวางท่านออกจากจุดหมายปลายทางที่ตั้งใจจะไปให้ถึง (ความตื่นเต้นเช่นนี้จะน้อยลงไป หากท่านเดินทางจากตะวันออกไปตะวันตก เพราะเมื่อสิ้นสุดหน้าตัดถนนที่เป็นผาชันแล้ว ท่านจะเห็นข้างหน้าเป็นเนินเล็กๆ ที่โล่งตา ซึ่งท่านจะต้องเคลื่อนที่ไปทางหล่มสักอีกหลายกิโลเมตร จึงจะเห็นหน้าผาสีแดงที่ว่ามาแล้ว)
หน้าผาสีแดงที่ท่านเห็นนั้นคือ “ภูผาแดง” ยอดเขามีความสูง 885 เมตรจากระดับน้ำทะเล เป็นจุดเช็คอินแห่งใหม่ ของอุทยานธรณีเพชรบูรณ์ จัดเป็นภูเขาที่มีความโดดเด่น เพราะเป็นภูเขายอดเรียบ วางตัวสูงขึ้นมาจากเนินลอนลาดของหินและดินสีน้ำตาลแกมแดง มีตำนานเล่าขานถึงความศักดิ์สิทธิ์ของผาแดง เห็นได้จากศาลเจ้าพ่อผาแดง ที่ตั้งอยู่ทั้งข้างล่าง ทางด้านเหนือของถนนสาย 12 และบนยอดภูผาแดง เชื่อกันว่าที่นี่คือสถานที่ที่ “ขุนผาแดง” หนึ่งในแม่ทัพสมัยพ่อขุนผาเมือง ได้เสียชีวิตลง ปัจจุบันนี้ ศาลเจ้าพ่อผาแดงเป็นหนึ่งในสิ่งที่ชาวหล่มสักให้ความเคารพนับถือ ผู้ที่เดินทางสัญจรไปมาจะแสดงความเคารพโดยการบีบแตร หรือนำดอกไม้ธูปเทียนมากราบไหว้บูชา ประมาณต้นฤดูฝนของทุกปีจะมีพิธีบวงสรวงเจ้าพ่อ รวมถึงการฟ้อนรำ และการจุดบั้งไฟบนหน้าผาผาแดง
ความโดดเด่นของภูผาแดงในด้านภูมิศาสตร์นั้น นับว่าน่าพิศวงอัศจรรย์ใจอย่างยิ่ง ทว่า ในด้านธรณีวิทยาแล้ว ยิ่งน่าทึ่ง น่าอัศจรรย์ใจยิ่งกว่ามาก เพราะจากข้อมูลที่ตรวจพบและบันทึกไว้ สามารถเล่าถึงความเป็นมาของภูผาแดงได้ดังต่อไปนี้
1. เมื่อประมาณ 300 -250 ล้านปีมาแล้ว บริเวณนี้จะเป็นทะเลที่ลึกมาก (อาจมากกว่า 1 กิโลเมตร) มีการสะสมตัวของหินดินดาน หินทราย และหินปูนน้ำลึก จากตะกอนที่ถูกพัดพามาจากแผ่นดินที่อยู่ไกลออกไปทางตะวันออกและตะวันตก และยามที่ทะเลสงบ ก็จะมีการสะสมตัวของเปลือกสิ่งชีวิตขนาดเล็กที่ล่องลอยอยู่ในน้ำทะเลกลายเป็นหินเชิร์ตชั้นบาง หลังจากนั้น เมื่อประมาณ 260 ล้านปีก่อน ทะเลแห่งนี้(นักธรณีวิทยาเรียก ทะเลน้ำดุก) จะค่อยๆตึ้นขึ้น พบฟอสซิลของสิ่งมีชีวิตในทะเลมากขึ้น
2. ระหว่างช่วงเวลา 250 – 240 ล้านปี พื้นที่ทั้งหมดถูกยกตัวขึ้นเป็นแผ่นดิน มีหินอัคนีแทรกซอนเกิดขึ้นมากมาย พร้อมๆ กับการที่ขั้นหินถูกบีบอัดจนคดโค้ง และแตกขาดเลื่อนผ่านกันไปมาของชั้นหิน
3. ประมาณ 230-220 ล้านปี เกิดภูเขาไฟระเบิด (พบหลักฐานอยู่มากในบริเวณด้านตะวันตกของที่ทำการอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว) เกิดรอยเลื่อนขนาดใหญ่ในแนว เหนือ เหนือ ตะวันออก – ใต้ ใต้ ตะวันตก (รอยเลื่อนนี้ตัดผ่านถนนหมายเลข 12 ที่หลักกิโลเมตรที่ 377)
4. รอยเลื่อนที่กล่าวมานี้(western boundary fault) ทำให้แผ่นดินด้านตะวันออกค่อยๆ ทรุดตัวลงทำให้เกิดแอ่งสะสมตะกอนแบบกึ่งกราเบน (คล้ายกับสามเหลี่ยมหน้าจั่ว มีด้านสั้นอยู่ทิศตะวันตก ทำให้มีความลาดชันของแอ่งมากกว่าทางด้านตะวันออก
5. ระหว่างที่รอยเลื่อนนี้ทรุดตัวลงไปนั้น ก็จะมีตะกอนสะสมตัวในแอ่งดังกล่าว ซึ่งจะได้ตะกอนที่สะสมตัวบนเนินตะกอนน้ำพารูปพัดทางตะวันตก มีบึงน้ำจืดตรงกลาง และตะกอนที่เกิดจากแม่น้ำและห้วย หนอง คลอง บึงปะปนกันทางด้านตะวันออก (พบฟอสซิล ปลา หอยสองฝา กุ้งเมล็ด (ostracod) กุ้งกระดอง (estheria) รอยตีนสัตว์เลื้อยคลาน ริ้วคลื่นใต้ท้องแม่น้ำ และมูลปลา? (Corpolite) ที่ห้วยกลทาและบ้านห้วยระหงส์)
6. จนเมื่อประมาณ 205 ล้านปีก่อน รอยเลื่อนขอบเขตตะวันตกหยุดการทรุดตัว การศึกษาแอ่งสะสมตะกอนเช่นนี้ ที่มีอายุเท่ากันในประเทศไทยระบุว่า รอยเลื่อนปกติ (normal fault) ที่เกิดขึ้นมนช่วงแรกจะกลายเป็นรอยเลื่อนย้อนกลับ (reverse fault) ทำให้ชั้นตะกอนที่สะสมในแอ่งที่กล่าวมาแล้วถูกบีบดันให้คดโค้งเล็กน้อย ถึงแม้ว่าในปัจจุบันนี้ ยังไม่พบหลักฐานยืนยันว่าเกิดเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นที่นี่ แต่ก็อนุมานเอาว่าจะมีรอยชั้นไม่ต่อเนื่องบังเกิดขึ้นที่นี่ด้วยเช่นกัน
7. จากนั้น ในยุคไดโนเสาร์ครองโลก บริเวณแห่งนี้ รวมทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ได้กลายเป็นแอ่งที่ราบของแม่น้ำโบราณ ที่แม่น้ำในสมัยนั้นส่วนใหญ่จะไหลไปทางทิศตะวันตก
8. จนกระทั่งจุลทวีปอินเดียได้มุดตัวชนกับทวีปเอเซีย เกิดเทือกเขาหิมาลัย (Himalayan orogeny) เมื่อประมาณ 40 ล้านปีก่อน ซึ่งส่งผลกระทบมาถึงไทย พลังดังกล่าวทำให้ชั้นหินที่อยู่ด้านตะวันตกของรอยเลื่อนขอบเขตตะวันตกถูกยกตัวขึ้นอย่างมากมาย จนทำให้หินตะกอนทะเลลึกขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งสูงกว่าหินตะกอนทะเลสาบ และหินตะกอนแม่น้ำ ที่เคยวางทับอยู่ข้างบน
9. กระบวนการกัดเซาะผุพังทำลายทางธรณีวิทยาเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภูมิประเทศเป็นดังที่เราเห็นในปัจจุบัน ส่วนหน้าผาที่เกือบเป็นเส้นตรงนั้น คาดว่าน่าจะถูกควบคุมด้วยรอยแยก (joint) ในทิศทางเกือบจะตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ ที่เกิดขึ้นพร้อมๆกับการเคลื่อนตัวย้อนกลับของรอยเลื่อนขอบเขตตะวันตก
10. หินตะกอนที่สะสมตัวในทะเลลึกนั้น นักธรณีวิทยาไทย ตั้งชื่อให้ว่า หมวดหินน้ำดุก (Nam Duk Fm.) หินตะกอนที่เกิดในแอ่งยุบนั้น เทียบได้กับหมวดหินห้วยหินลาด แต่แอ่งสะสมตะกอนแห่งนี้ยังไม่มีชื่อเป็นทางการ ข้าพเจ้าขอตั้งชื่อให้ว่า แอ่งสะสมตะกอน ห้วยกลทา (Huai Kon Tha Basin) ส่วนหินตะกอนสีแดงที่ประกอบขึ้นเป็นภูผาแดงนั้น เทียบเท่าได้กับ หมวดหินน้ำพอง ของกลุ่มหินโคราช
11. ภูผาแดง และห้วยกลทา กับหินตะกอนทะเลลึกที่พบอยู่ล้อมรอบนั้น มีความพิเศษและโดดเด่นมากในด้านธรณีวิทยา ภูมิศาสตร์ และวัฒนธรรมประเพณีของประชาชนในบริเวณใกล้เคียง สมควรที่จะมีการสำรวจศึกษา หารายละเอียดเพิ่มเติม ซึ่งเชื่อมั่นว่า หากได้มีการปฏิบัติเช่นว่าแล้ว จะต้องมีการค้นพบสิ่งแปลกใหม่ให้แก่อุทยานธรณีเพชรบูรณ์ และวงการธรณีวิทยาของไทยอย่างแน่นอน
ที่มา

อุทยานธรณีเพชรบูรณ์ Phetchabun Geopark

แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook

คอลัมน์วันนี้ ล่าสุด